ค้นหาบล็อกนี้

หวาย

การแต่งกายของชาวอีสาน


การแต่งกายของชาวอีสาน

ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าสำหรับใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม เป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดู การทำนาหรือว่างจากงานประจำอื่นๆ ผู้หญิงในวัยต่างๆ จะสืบทอดกันมาผ่านการจดจำและปฏิบัติจากวัยเด็ก ผ้าที่ทอขึ้นจำแนกออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันจะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอดด้วยฝ้ายย้อมสีตามต้องการ
  2. ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ผ้าที่ทอจึงมักมีลวดลายที่สวยงามวิจิตรพิสดาร มีหลากหลายสีสัน

ประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือ การลงข่วงโดยบรรดาสาว ๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสี

ประเภทของการทอผ้า

ภาคอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่ม วัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม 2 ประเภท ดังนี้

  1. กลุ่มอีสานเหนือและอีสานตอนกลาง เป็นกลุ่มชนเชื้อสายลาวที่มีกำเนิดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และยังมีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น ข่า ผู้ไท โส้ แสก กระเลิง ย้อ ซึ่งกลุ่มไทยลาวนี้มีความสำคัญยิ่งในการผลิตผ้าพื้นเมืองของอีสาน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฝ้ายและไหม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำเอาเส้นใยสังเคราะห์ มาทอร่วมด้วย ผ้าที่นิยมทอกันในแถบอีสานเหนือและอีสานตอนกลาง คือ ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด และผ้าแพรวา
  2. กลุ่มอีสานใต้ คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตนเอง มีสีสันที่แตกต่างจากกลุ่มไทยลาว



    ลักษณะผ้าพื้นเมืองอีสาน

    ลวดลายผ้าพื้นเมืองอีสาน ทั้งสองกลุ่มนิยมใช้ลายขนานกับตัว ซึ่งต่างจากผ้าซิ่นล้านนาที่นิยมลายขวางตัว ในขณะที่ชาวไทย – ลาว และชาวล้านนานิยมนุ่งผ้าซิ่นกรอมเท้าเช่นเดียวกัน จะนิยมการต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นจะต่อด้วยผ้าชนิดเดียวกัน ส่วนหัวซิ่นนิยมทอด้วยผ้าไหมชิ้นเดียว ทอเก็บขิดเป็นลายบัวคว่ำและบัวหงายมีสีแดงเป็นพื้น ส่วนการต่อตะเข็บและลักษณะการนุ่งจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาคอื่นคือ การนุ่งซิ่นจะนุ่งป้ายหน้าเก็บซ่อนตะเข็บ ยกเว้นกลุ่มไทยเชื้อสายเขมรในอีสานใต้ มักจะทอริมผ้าเป็นริ้ว ๆ ต่างสีตามแนวตะเข็บซิ่น จนดูกลมกลืนกับตะเข็บและเวลานุ่งจะให้ตะเข็บอยู่ข้างสะโพก

    ลักษณะการแต่งกายของชาวอีสาน

    ชาวอีสานมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนคือหญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอ ด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ผู้สูงอายุมักตัดผมสั้นไว้จอน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอนนัก แต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือนุ่งโสร่งผ้าไหม อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายดังกล่าวจะพบน้อยลง ในปัจจุบันประชากร วัยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างที่พบเห็นในที่อื่นๆ ของประเทศ แต่ก็สามารถหาชมการแต่งกายของชาวอีสานแบบดั้งเดิมได้ตามหมู่บ้านในชนบท ซึ่งประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ยังคงแต่งกายแบบดั้งเดิม







ที่มา http://online.benchama.ac.th/social/kanokporn/les6_01.html

ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้